ธรรมปฏิบัติ

สภาวะว่าง

ไชย ณ พล

ถาม :


"เรียนถามอาจารย์ค่ะ เมื่อได้ว่างแล้วต้องทําอย่างไรต่อคะ ปล่อยเฉยๆ หรือน้อมนิพพานเลย ขอบคุณค่ะ"

อาจารย์ไชย ณ พล
ตอบ :


คําถามนี้ดี มีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติทั้งหลายมากนะ
เพื่อให้ได้ประโยชน์ใหญ่ มารู้จักความว่างทั้งระบบเลยก็ดี
ความว่างเป็นเรื่องธรรมดามาก และลึกซึ้งมาก
ความว่างเป็นเรื่องมีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์
ความว่างที่มีทั้งว่างปกติ และว่างพิเศษ
ความว่างเป็นสภาวะที่ควรสรรเสริญ ว่างบางประเภทก็ควรติเตียน
ความว่างมีทั้งว่างที่ไม่เสถียร ว่างที่เสถียรเป็นสมาบัติ และว่างที่อมตะ
ความว่างมีทั้งว่างสมถะ ว่างวิปัสสนา และว่างสมถะพร้อมวิปัสสนา
ความว่างมีทั้งว่างธรรมชาติ จิตว่าง และว่างสัมบูรณ์
ความว่างมีทั้งความว่างที่ไม่บริสุทธิ์และความว่างที่บริสุทธิ์

ค่อย ๆ พิจารณาไปนะ

ความว่างเป็นเรื่องธรรมดามาก
ว่างเป็นเรื่องธรรมดาเพราะ ความว่างกับความมีอยู่ด้วยกันในธรรมชาติตลอดเวลา ในจักรวาลนั้นมีกาแลกซี่คือดาราจักรอยู่นับไม่ถ้วน แต่ที่มีมากที่สุดคือความว่างที่รองรับดวงดาว และกาแลกซี่ทั้งหมดนั้นอยู่
ความว่างเป็นเรื่องธรรมดาเพราะชีวิตทั้งหมดสร้างมาจาก ดิน นํ้า ลม ไฟ ความว่าง และวิญญาณ ความว่างจึงอยู่ในทุกเซลส์ของร่างกายสัตว์โลก
ความว่างเป็นเรื่องธรรมดาเพราะ คนปกติทุกคนได้ความว่างทุกวันอยู่แล้วจึงหลับลง รอยต่อระหว่างความตื่นกับความหลับนั้นแหละ คือ ความว่าง

ความว่างเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก
ความว่างเป็นเรื่องลึกซึ้ง เพราะความมีตั้งอยู่บนความว่าง ควอนตัมที่ว่าละเอียดแสนละเอียด ควอนตัมเหล่านั้นล้วนตั้งอยู่บน ความว่าง เคลื่อนไหวอยู่ในความว่าง ดังนั้นสุดของที่สุดพลังงาน คือความว่าง
ความว่างเป็นเรื่องลึกซึ้ง เพราะทั้ง ๆ ที่ความว่างใหญ่กว่าความมีมาก แต่มนุษย์มักจะมองแต่ความมี ให้ค่ากับความมี จนไม่ค่อยเห็นความว่าง และลืมค่าความว่าง ถ้าไม่มีความว่างรองรับ ความมีทั้งหมดตั้งอยู่ไม่ได้หรอก เอาง่ายๆ นะถ้าไม่มีความว่างระหว่างนิ้วเลย นิ้วก็ไม่เป็นนิ้วที่พลิ้วไหวทํากิจได้สารพัดอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นแผ่นพืดเหมือนตีนกบของมนุษย์ดํานํ้า หยิบ จับอะไรไม่ได้เลย แต่เวลามนุษย์ชื่นชมก็ชื่นชมแต่นิ้ว ไม่ชื่นชมความว่างที่ทําให้นิ้วเป็นนิ้วเลย ต้องคนมีปัญญาลึกซึ้งจึงเห็นค่าความว่าง
ความว่างเป็นเรื่องลึกซึ้ง เพราะทั้ง ๆ จิตมนุษย์ว่างทุกวันจึงหลับลง แต่เวลาอื่นจิตมนุษย์เกือบทั้งหมด อยู่กับความวุ่นเกือบตลอดเวลา ตื่นก็คิด หลับก็ฝัน เมื่อวุ่นจนเคยชิน เฉพาะคนที่มีจิตลึกซึ้งเท่านั้นจึงรับรู้ถึงความว่างที่แสนสุขสบาย และยินดีในความว่างจนเป็นสมาบัติได้

ความว่างมีคุณอนันต์
ความว่างมีคุณอนันต์ เพราะเป็นที่อยู่จําเป็น ที่เราอยู่ทุกวันนี้ เราอยู่ในความว่าง บ้านที่เราอยู่ได้ก็คือบ้านที่ว่าง บ้านที่เต็มไปด้วยของจนไม่มีที่ว่าง เราอยู่ไม่ได้
ความว่างมีคุณอนันต์ เพราะเป็นศักยภาพความพร้อม เวลาเราจะทำกิจใด ๆ แล้วเรารู้สึกไม่ว่าง เพราะจิตเราไม่ว่าง จิตถูกใช้งาน คิดเพื่อกิจอื่นอยู่ แต่หากจิตว่างก็ทําได้ ดังนั้น จิตที่ใช้ได้คือจิตว่างนั้นเอง จิตที่ใช้ไม่ได้คือจิตวุ่น
ความว่างมีคุณอนันต์ เพราะความว่างเป็นสภาวะที่สบายที่สุด ตรงข้ามกับความวุ่น วุ่นมากก็ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านมากก็เครียด เครียดมากก็บ้า ส่วนว่างนั้น ยิ่งว่างยิ่งสงบ ยิ่งว่างยิ่งสุข
ความว่างมีคุณอนันต์ เพราะในความว่าง ปัญญาสร้างสรรค์จะกว้างไกลและอัศจรรย์ที่สุด
ความว่างมีคุณอนันต์ เพราะในความว่างที่ไร้การปรุงแต่ง รู้จะชัดเที่ยงตรง การตัดสินใจจะอิสระแม่นยําที่สุด
ความว่างมีคุณอนันต์ เพราะความว่างที่เสถียรดีเป็นสมาบัติ เป็นฐานการบรรลุธรรมที่ง่ายที่สุด
ความว่างมีคุณอนันต์ เพราะความว่างสัมบรูณ์เป็นที่สถิตย์แห่งความบริสุทธิ์สมบรูณ์คือพุทธะภาวะ รู้ ตื่น เบิกบาน (สุขอย่างยิ่ง) อยู่ในว่างอย่างยิ่ง นั้นคือที่สุดของวิวัฒนาการ

ความว่างมีโทษมหันต์
ความว่างมีโทษมหันต์เพราะ ความว่างธรรมชาติเป็นที่อยู่ของความวุ่นแห่งการเกิด-ดับทั้งปวง
ความว่างมีโทษมหันต์เพราะ ความว่างธรรมชาติเป็นที่ตั้งของอวิชชา ต้นตอแห่งการปรุงแต่ง และทุกข์ทั้งปวง

ความว่างปกติ
ความว่างปกติ คือว่างแห่งการหลับ ว่างแห่งการหยุดคิด ได้ตามปรารถนา หรือเป็นครั้งคราว

ความว่างพิเศษ
ความว่างพิเศษ คือความว่างอันเป็นผลแห่งวิวัฒนาการชั้นสูง ความว่างแห่งสมาบัติซึ่งเป็นผลแห่งการพัฒนาจิตอย่างเป็นระบบ ความว่างแห่งความพอของชีวิตสันโดษในธรรมชาติ ความว่างแห่งกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก และความว่างแห่งพระนิพพาน

ความว่างที่ควรสรรเสริญ
ความว่างที่ควรสรรเสริญ คือความว่างที่สงบสุข
ความว่างที่ควรสรรเสริญ คือความว่างที่เสถียร
ความว่างที่ควรสรรเสริญ คือความว่างที่ไร้ขอบเขต
ความว่างที่ควรสรรเสริญ คือความว่างที่มีแสงนวลสนิท เห็นชัด
ความว่างที่ควรสรรเสริญ คือความว่างที่เป็นอิสระ หลุดจากความมี แม้พลังงานควอนตัม
ความว่างที่ควรสรรเสริญ คือความว่างที่นิรันดร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ความว่างที่ควรติเตียน
ว่างที่น่าติเตียน คือว่างเอ๋อ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ รับการทูลเชิญจากสหัมบดีพรหมให้แสดงธรรมแล้ว ก็ทรงส่องดูว่า ควรโปรดใครดี ก็ทรงระลึกถึงท่านอาฬารดาบส พบว่าท่านมรณะแล้วตอนนี้ ไปเกิดเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมอยู่ พระองค์ถึงกับเปล่งอุทานว่า "ท่านถึงความฉิบหายแล้วหนอ" ทั้ง ๆ ที่พรหมชั้นนี้ว่างสมํ่าเสมอเป็นปกติ แม้สัญญาก็ไม่โผล่มารบกวนแม้แต่น้อย แต่ที่ฉิบหายเพราะจะต้องแช่อยู่ในความไม่รับรู้อะไรเลยนี้หลายหมื่นกัปไม่พัฒนาใด ๆ ได้เลย ว่างนี้จึงเป็นว่างเอ๋อ เพราะไร้การรับรู้และการพัฒนา
ว่างที่น่าติเตียน คือว่างเลียนแบบ คือนักปฏิบัติบางคน เห็นครูบาอาจารย์หรือคนอื่นว่างแล้วสบาย ก็พยายามเลียนแบบความว่างของคนอื่นบ้าง เลยกลายเป็นการพยายามสร้างว่าง ซึ่งตรงข้ามกับความว่างจริงที่ไร้การปรุง จึงไม่ได้ความว่างจริง ได้แค่ mood making ว่า ฉันว่าง ฉันว่าง หลอกตัวเองโดยไม่ตั้งใจ แท้จริงแล้วความว่างมีอยู่แล้วในทุกคน ทุกเซลส์ ทุกจิต เพียงแค่ปล่อยวางกิจกรรม การสร้าง การปรุง การคิด และความมีทั้งหมดก็ว่างแล้ว ดังนั้นพวกพยายามว่างเลียนแบบจึงสร้างว่างเก๊ที่ควรติเตียน
ว่างที่น่าติเตียน คือว่างโชว์ พวกนี้พอได้ลิ้มรสความว่างจริงนิด ๆ หน่อย ๆ ก็มาคุยโม้โอ้อวดโชว์คนอื่น ทันทีที่โชว์ความว่างก็อันตรธานไป หมดเลย เพราะตัวโชว์นั้น คือมานะกิเลสตัววุ่น ตัวทําลายความว่างโดยตรง พวกโชว์ว่าง ว่างโชว์จึงควรแก่การติเตียน
ว่างที่น่าติเตียน คือว่างปรุงแต่ง บางจําพวกได้ว่างนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ปรุงแต่งว่าฉันบรรลุพระอริยะขั้นนั้นขั้นนี้ พวกนี้เวลาไปรายงานครูบาอาจารย์ ท่านมักจะด่าเอา เพราะหากไม่จริงก็จัดเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม ปิดกั้นการบรรลุธรรมไปเลย และการด่าหรือการแสดงการไม่ยอมรับเป็นการทดสอบไปในตัวด้วยว่า เองว่างจริงไหม ถ้าว่างจริงย่อมไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวใด ๆ กับคําด่าหรือการไม่ยอมรับเลย แต่หากหวั่นไหว แสดงว่าไม่ว่างจริง ปรุงแต่งไปเองว่าตนเป็นอริยะขั้นนั้นขั้นนี้ บางคนพอถูกครูบาอาจารย์ทดสอบ พาลไม่ชอบครูบาอาจารย์ ดูหมิ่นครูบาอาจารย์ไปเลย จิตก็เสียเลย

ความว่างที่ไม่เสถียร
ความว่างที่ไม่เสถียร คือความว่างที่ซ้อนกับความวุ่นแห่งการปรุงนานาอาการ
ความว่างที่ไม่เสถียร คือความว่างที่จิตหยุดคิดชั่วคราว ครู่หนึ่งก็คิดต่อ
ความว่างที่ไม่เสถียร คือความว่างธรรมชาติที่จิตเข้าไปสัมผัสชั่วคราว แล้วออกมา โลภ โกรธ หลงต่อ
ความว่างที่ไม่เสถียร คือความว่างจากการหลับลึก เมื่อเริ่มฝัน หรือเมื่อตื่นมา ว่างนั้นก็เลือนหายไป
ความว่างที่ไม่เสถียร คือความว่างจากภาวะสลบของระบบประสาท ตัดการรับรู้ทางอายตนะ เมื่อหมดฤทธิ์ยาก็ออกมารับรู้ต่อ

ความว่างที่เสถียร
ความเสถียรแห่งว่าง หมายความว่าสามารถทรงความว่างได้ตลอดเวลา แม้ขณะตื่น ขณะหลับ ขณะทำกิจต่าง ๆ และตามปรารถนา
ความว่างที่เสถียร คือความว่างแห่งจิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับความว่าง เช่นมานพทั้งสิบหกในโสฬสปัญหา ว่างแบบนี้จะเสถียรไปตลอดการตั้งจิตไว้ในว่าง
ความว่างที่เสถียร คือความว่างแห่งภพว่าง ได้แก่อรูปพรหมทั้งหมด ว่างแบบนี้ จะเสถียรไปตลอดอายุขัย
ความว่างที่เสถียร คือความว่างที่เป็นผลแห่งการเจริญสมถสมาบัติ วิปัสสนาวิโมกข์ และสุญตสมาบัติด้วยสมถะควบวิปัสสนา
ความว่างที่เสถียร คือความว่างแห่งอริยผลสมาบัติ

ความว่างที่อมตะ
ความว่างที่อมตะ คือบรมว่างแห่งพระนิพพาน (Pure and Absolute ว่าง)

ความว่างแห่งสมถะ
ความว่างแห่งสมถะพระผู้มีพระภาคทรงสอนกระบวนการปฏิบัติแก่กุลบุตรดังนี้
สภาวะ ๑ ว่างจากกาม ว่างจากพยาบาท ว่างจากความฟุ้งซ่าน ว่างจากความง่วงงุน ว่างจากความลังเลสงสัย ว่างจากอกุศลทั้งหลาย แล้วตั้งมั่นอยู่กับการภาวนาวิตกวิจารที่เป็นที่สบายแห่งจิต จนจิตเป็นหนึ่งตั้งมั่น มีปิติเกิดขึ้นในกาย มีสุขเกิดขึ้นในใจ
สภาวะ ๒ ว่างจากวิตกวิจาร เหลือแต่ปีติทางกาย สุขทางใจ และจิตหนึ่งตั้งมั่น
สภาวะ ๓ ว่างจากปีติทางกาย เหลือแต่สุขทางใจ และจิตหนึ่งตั้งมั่นเป็นอุเบกขาอยู่
สภาวะ ๔ ว่างจากลมหายใจ และสุขทางใจ เหลือแต่สติบริสุทธิ์และอุเบกขาอยู่
สภาวะ ๕ ว่างจากกาย เหลือแต่สติบริสุทธิ์ อุเบกขาและความหมายรู้ในความว่างสากลอยู่
สภาวะ ๖ ว่างจากความว่างสากล เหลือแต่ความว่างแห่งวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้) อันไร้ขอบแขตอยู่
สภาวะ ๗ ว่างจากวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้) เหลือแต่ความไร้ ไม่มีอะไรแม้น้อยหนึ่งอยู่
สภาวะ ๘ ว่างจากความไร้ ไม่มีอะไรแม้น้อยหนึ่ง เหลือแต่รู้ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับสัญญาอยู่
สภาวะ ๙ ว่างจากรู้ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับสัญญา ว่างจากเวทนาอยู่ เรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือนิโรธสมาบัติ

ความว่างแห่งวิปัสสนา
ความว่างจากสิ่งที่แปรปรวนอนิจจัง ด้วยตั้งใจละสิ่งที่เป็นอนิจจังทั้งหมด จนปราศจากนิมิตใด ๆ เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์
ความว่างจากสิ่งที่เป็นทุกข์ ด้วยแจ่มแจ้งว่ากิเลสคือทุกข์ จึงสลัดคืน จนปราศจากทุกข์ใด ๆ เรียกว่า อัปณิหิตวิโมกข์
ความว่างจากตัวตน ด้วยแจ่มแจ้งว่า ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นอนัตตา จนปราศจากตัวตนใด ๆ เรียกว่า สุญตวิโมกข์
ความว่างจากกิเลสด้วยอริยมรรคระดับต่าง ๆ เมื่อบรรลุผล เรียกว่าอริยผลสมาบัติ
ความว่างจากอวิชชาด้วยญาณ เรียกว่าวิมุติ

ความว่างแห่งสมถะพร้อมวิปัสสนา
ในจุฬสุญตสูตรพระพุทธองค์ทรงให้ปฏิบัติดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ น้อมจิตไปสู่ความว่างจากผู้คน และสิงสาราสัตว์ แล้วน้อมนึกในป่าสงัด จนจิตตั้งมั่น
ขั้นตอนที่ ๒ น้อมจิตไปสู่ความว่างจากป่าแล้วน้อมนึกในแผ่นดินล้วน ๆ จนจิตตั้งมั่น
ขั้นตอนที่ ๓ น้อมจิตไปสู่ความว่างจากแผ่นดิน แล้วน้อมนึกในความว่างล้วน ๆ จนจิตตั้งมั่น
ขั้นตอนที่ ๔ น้อมจิตไปสู่ความพ้นจากความว่างแล้วน้อมนึกในธาตุรู้อันไร้ขอบเขตล้วน ๆ จนจิตตั้งมั่น
ขั้นตอนที่ ๕ น้อมจิตไปสู่ความว่างจากธาตุรู้อันไร้ขอบเขต แล้วน้อมนึกในความไร้ล้วน ๆ จนจิตตั้งมั่น
ขั้นตอนที่ ๖ น้อมจิตไปสู่ความว่างจากความไร้ แล้วน้อมนึกในรู้ที่ไม่ระคนสัญญาล้วน ๆ จนจิตตั้งมั่น
ขั้นตอนที่ ๗ น้อมจิตไปสู่ความว่างจากรู้ที่ไม่ระคนสัญญา แล้วน้อมนึกในเจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิตล้วน ๆ จนจิตหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ พ้นวิเศษแล้วจากการเกิดทั้งปวง

ความว่างธรรมชาติ
ความว่างธรรมชาติคือ ความว่างที่รองรับสรรพสิ่งทั้งจักรวาลอยู่

ความว่างแห่งจิต
ความว่างแห่งจิต คือการฝึกจิตให้ว่างจากความมีต่าง ๆ จนจิตว่างสงัด สงบ นิ่ง ซึ่งสามารถอยู่ในความว่างนั้นได้เป็นวัน เป็นปี หรือแม้เป็นชาติ (เช่น อรูปพรหม) ความว่างแห่งจิตเป็นฐานสำคัญของฤทธิ์ใหญ่ ปัญญาใหญ่ และการบรรลุธรรมโดยง่าย

ความว่างสัมบูรณ์
ความว่างสัมบูรณ์ คือความว่างแห่งพระนิพพาน

ความว่างที่ไม่บริสุทธิ์ รองรับความมีที่ไม่บริสุทธิ์
ความว่างที่ไม่บริสุทธิ์ คือในความว่างที่มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร กรรม บุญ บาป อเนญชา โลก ดวงดาว ภพ อวิชชา ความเกิด ความดับอยู่ในนั้น จึงแปรปรวน ว่างคู่กับวุ่น ไม่รู้จบ

ความว่างที่บริสุทธิ์ รองรับความมีที่บริสุทธิ์
ความว่างที่บริสุทธิ์ คือในความว่างที่ปราศจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร กรรม บุญ บาป อเนญชา โลก ดวงดาว ภพ อวิชชา ความเกิด ความดับอยู่ในนั้น จึงอมตะ สิ่งที่จะสถิตย์ในความว่างนี้ได้ คือความบริสุทธิ์สมบูรณ์จึงสุขอย่างยิ่ง ในว่างอย่างยิ่ง (Absolute ว่าง)

เมื่อได้ว่างแล้ว ควรทำอย่างไรต่อ
ก่อนอื่น พิจารณาว่าเราได้ว่างแบบไหน ๑) ว่างธรรมชาติ ๒) จิตว่างปกติ ๓) ว่างแห่งรูปฌาน ๔) ว่างแห่งอรูปฌาน ๕) ว่างแห่งวิโมกข์ ๖) ว่างแห่งสุญญตสมาบัติ ๗) ว่างแห่งอริยผลสมาบัติ ๘) ว่างแห่งนิพพาน
เมื่อจําแนกระดับว่างได้แล้ว พึงปฏิบัติ ดังนี้

ได้ว่างธรรมชาติแล้ว ให้วิปัสสนาว่า ความว่างนี้รองรับความมีปรุงแต่ง มีธรรมชาติแปรปรวน วุ่นวาย เป็นอนิจจัง ได้ว่างแล้วเสื่อมไป เป็นความว่างที่ไม่ควรยินดี กําหนดปล่อยวาง ปล่อยวาง แล้วน้อมรู้สู่อมตธาตุก็จะพบว่างใหม่ที่บริสุทธิ์กว่า

ได้จิตว่างปกติแล้ว ให้วิปัสสนาว่า การหยุดคิดได้ การหลับได้เป็นการดี แต่ยังมีโมหะเป็นฐานจิตอยู่ ควรที่จะก้าวหน้าต่อไป โดยกําหนดรู้ลึกในจิตเอง ปล่อยวางความรู้สึกแม้ละเอียดในจิต จะพบว่างในว่างยิ่ง ๆ ขึ้นไป ยิ่งลึก ว่างยิ่งกว้างใหญ่ จนสุดจิตว่างก็จะไร้ขอบเขต พิจารณาว่า แม้ว่างนี้ก็ไม่เป็นตน ไม่ควรเกาะเกี่ยว น้อมจิตสู่อมตธาตุ ก็จะพบว่างใหม่ที่บริบูรณ์

ได้ว่างแห่งรูปฌาน ให้วิปัสสนาว่า ความว่างนี้สุขสงบ แต่จิตยังประกอบอารมณ์ประณีต แม้การประกอบสุข ก็เป็นทุกขภาวะ ไม่ควรเกาะเกี่ยว ปล่อยวาง ปล่อยวาง น้อมสู่วิสังขารที่ปราศจากการประกอบเกาะเกี่ยวใด ๆ ก็จะพบว่างใหม่แห่งพระนิพพาน

ได้ว่างแห่งอรูปฌาน ให้วิปัสสนาว่า ความว่างนี้สงัดสบายยิ่ง แต่ว่างอื่นยิ่งกว่านี้ยังมีอีก ว่างใดที่ต้องตามรักษา ว่างนั้นไม่เที่ยง ไม่เป็นตน ปล่อยวาง ปล่อยวาง น้อมสู่พระนิพพาน อันบริสุทธิ์ปกติเย็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องตามรักษาอีกต่อไป ก็จะพ้นจากภพประณีต

ได้ว่างแห่งวิโมกข์ ให้ทรงวิโมกข์ให้เสถียร วิโมกข์แนบอยู่กับพระนิพพาน ชําระวิโมกขญาณนั้นให้หมดจดถึงที่สุด ก็จะเข้านิพพานโดยง่าย

ได้ว่างสุญญตสมาบัติ ให้สละ สลัดนิมิตทั้งปวง ก็จะถึงนิพพานโดยเร็ว

ได้ว่างอริยผลสมาบัติ ให้พิจารณาว่า เรายังมีกิจต้องทําอีกหรือไม่ หากยังมีก็เพียรดับสังโยชน์ที่เหลือจนหมด เมื่อหมดสังโยชน์ สิ่งที่ปรากฏก็คือความบริสุทธิ์หลุดพ้น สิ่งที่ควรทราบคือ เมื่ออวิชชาสังโยชน์ตัวสุดท้ายจะสลายไป จะมีอาการดั่งว่าจะตาย ไม่ต้องสนใจ วิราคะ ไม่เกาะเกี่ยวแม้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อสังโยชน์สลายหมด ก็พบ รู้ ตื่น เบิกบาน อมตะ

ได้ว่างแห่งนิพพาน ให้เสวยวิมุติสุขตามปรารถนา แล้วเจริญกรุณาสมาบัติ ส่องดูว่าควรกอปรธรรมกิจใดหรือไม่ หากมีก็ทํา หากไม่มี ก็เข้าอรหัตตผลสมาบัติตามอัธยาศัย รอเวลาอันควร

โดยสรุป
1. เมื่อได้สภาวะว่างแล้ว setให้เป็นวิหารธรรมมาตรฐาน ที่อยู่ประจำของจิต จนเป็นสมาบัติ
2. น้อมสู่วิมุติ ด้วยการพิจารณาว่า แม้ว่างนี้ก็ไม่เป็นตน ไม่เที่ยง ได้แล้วเสื่อมไป น้อมพระนิพพานอันบริสุทธิ์ อมตะ
3. เมื่อถึงพระนิพพาน จะพบว่างบริสุทธิ์ อมตะ (Absolute ว่าง) ที่เป็นสุข เหนือจินตนาการ เหนือคำบรรยาย จนไม่รู้จะพูดอะไร ก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องทำอะไร และพบพุทธะ อันเป็นพุทธาการกธรรมบริสุทธิ์ เมื่อนั้น ญาณจะบอกเองว่าควรเฉยหรือทำอะไร
4. สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง เมื่อได้ว่างบ้างแล้ว อย่าเอาสภาวะมาโชว์กัน ทันทีที่ตั้งใจจะโชว์ จิตก็ปรุงกิเลส ความว่างก็หายไปแล้ว จิตก็จะกลับมาวุ่น เครียดได้อีก และเมื่อสูญเสียสภาวะว่างไป จะรู้สึกสูญเสียยิ่งกว่าเสียทรัพย์ทั้งหมดที่มีเลยทีเดียว
5. ได้ว่างแล้ว ยกระดับความว่างให้ถึงนิพพาน อย่าถอยกลับมาสู่ความวุ่นอีก จึงจะเป็นของจริงแท้



Image Credit: unsplash.com/lubo-minar-jUiNBSfWZPw-unsplash
Editor: Masarit Ariya
© 2021 Copyright : Uttayarndham